Ulbricht, Walter (1893–1973)

นายวัลเทอร์ อุลบริชท์ (พ.ศ. ๒๔๓๖–๒๕๑๖)

วัลเทอร์ อุลบริชท์ เป็นเลขาธิการพรรคเอกภาพสังคมนิยมแห่งเยอรมนี (Socialist Unity Party of Germany) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๐–๑๙๗๑ รองนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Republic) หรือเยอรมนีตะวันออกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๙–๑๙๖๐ และประธานสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๐–๑๙๗๓ อุลบริชท์มีส่วนรับผิดชอบในนโยบายสำคัญหลายอย่างของประเทศ เช่น การประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five-Year Plan)* ของโจเซฟ สตาลิน (Josef Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตและการสร้างกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* ในเดือนสิงหาคมค.ศ. ๑๙๖๑ อย่างไรก็ตาม หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ อุลบริชท์ประกาศใช้ “ระบบเศรษฐกิจใหม่” ซึ่งทำให้เขาขัดแย้งกับสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งและนำไปสู่การสูญเสียอำนาจในเวลาต่อมา

 อุลบริชท์เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๙๓ ที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) เมืองใหญ่ทางทิศตะวันออกของเยอรมนี แอนสท์ อุลบริชท์ (Ernst Ulbricht) และเพาลีน อุลบริชท์ (Pauline Ulbricht) บิดามารดามีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า และเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนีหรือเอสพีดี (Social Democratic Party of Germany–SPD)* ทั้งเข้าร่วมกิจกรรมพรรคอย่างสม่ำเสมอ หลังสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานใน ค.ศ. ๑๙๐๗ อุลบริชท์เรียนสายอาชีพและฝึกงานเป็นช่างไม้ ระหว่างการฝึกงาน เขาเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรการศึกษายุวชนแรงงานจนสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ในปีถัดมา ครอบครัวโน้มน้าวเขาให้เข้าเป็นสมาชิกพรรคเอสพีดี อุลบริชท์ได้รับหน้าที่ให้ดูแลด้านองค์กรการศึกษารวมถึงองค์กรยุวชนแรงงานของพรรค เขาทำหน้าที่ได้ดีและได้เลื่อนขึ้นเป็นกรรมการบริหารประจำเขตไลพ์ซิกใน ค.ศ. ๑๙๑๓ ต่อมาเมื่อเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ๊ก ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการีและพระชายา ซึ่งลุกลามเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เยอรมนีสนับสนุนฝ่ายออสเตรีย-ฮังการีและเข้าร่วมสงครามในฐานะสมาชิกหลักของฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* อุลบริชท์ต่อต้านสงครามและผิดหวังที่สมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยส่วนหนึ่งประกาศสนับสนุนสงคราม เขาจึงเคลื่อนไหวคัดค้านด้วยการจัดพิมพ์ใบปลิวเรียกร้องให้รัฐบาลยุติสงคราม ในการประชุมคณะกรรมการของเขตไลพ์ซิกในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ อุลบริชท์เรียกร้องให้พรรคเลิกสนับสนุนสงครามซึ่งทำให้เขาถูกวิพากษ์โจมตี อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ อุลบริชท์ถูกเรียกเข้าประจำการในกองทัพและระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๕–๑๙๑๗ เขาไปรบในแนวรบด้านตะวันออกในเซอร์เบียและมาซิโดเนีย

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๗ เมื่อคาร์ล ลีบเนชท์ (Karl Liebknecht)* และโรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)* สมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยที่ต่อต้านสงครามแยกตัวออกมาตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระแห่งเยอรมนี (Independent Social Democratic Party of Germany–USPD) ขึ้นอุลบริชท์แม้จะยังอยู่ในสนามรบก็เข้าเป็นสมาชิกด้วยต่อมาเมื่อรัสเซียเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ซึ่งทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* หมดอำนาจและตามด้วยการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ รัสเซียเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์และถอนตัวออกจากสงครามด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Brest-Litovsk)* กับเยอรมนีในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘แนวรบด้านตะวันออกจึงผ่อนคลายลง เยอรมนีหันไปโหมบุกแนวรบด้านตะวันตก อุลบริชท์ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำการในแนวรบด้านตะวันตก เขาจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะหนีทัพระหว่างการเดินทาง อย่างไรก็ตาม เขาถูกจับได้และต้องจำคุกเป็นเวลา ๒ เดือนหลังพ้นโทษ อุลบริชท์ถูกส่งไปประจำการที่เบลเยียมแต่ก็ถูกจับอีกครั้งและถูกจำคุกที่เมืองชาร์เลอรัว (Charleroi) ในข้อหาครอบครองใบปลิวที่มีเนื้อหาต่อต้านสงคราม อย่างไรก็ตาม ก่อนที่อุลบริชท์จะถูกส่งตัวขึ้นศาล ในเยอรมนีได้เกิดการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ความวุ่นวายทางการเมืองขยายตัวไปตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนทำให้เยอรมนียอมแพ้สงครามและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ส่วนอุลบริชท์รอดพ้นจากข้อกล่าวหาและได้รับการปล่อยตัว

 สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าวมีส่วนทำให้สาธารณรัฐไวมาร์ต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจและสังคมเนื่องจากเกิดภาวะเงินเฟ้ออัตราการว่างงานสูง และการเมืองขาดเสถียรภาพ รวมทั้งเยอรมนียังถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ซึ่งลงโทษเยอรมนีอย่างมากเพราะต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล เสียดินแดนทั้งทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกรวมทั้งอาณานิคมทั้งหมด เป็นต้น กลุ่มสปาร์ตาคัส (Spartacus League) กลุ่มฝ่ายซ้ายที่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติที่รุนแรงจึงก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี (Communist Party of Germany)* ขึ้นในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เพื่อเตรียมยึดอำนาจและสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเยอรมัน (German Soviet Socialist Republic) ขึ้นแต่ล้มเหลว สมาชิกกลุ่มสังคมประชาธิปไตยอิสระแห่งเยอรมนีต่างเข้าเป็นสมาชิกซึ่งรวมถึงอุลบริชท์ด้วยใน ค.ศ. ๑๙๒๐ อุลบริชท์ได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของกรรมาธิการกลางใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔–๑๙๒๕ ถูกส่งไปอบรมที่มอสโก เมื่อกลับมาใน ค.ศ. ๑๙๒๖ เขาได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐสภาแห่งแคว้นแซกโซนี (Saxony) และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๘–๑๙๓๓ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเวสต์ฟาเลียใต้ (South Westphalia) ในสภาไรค์ชตาก (Reichstag) นอกจากนี้ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๙ เป็นต้นมา เขายังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการด้านการเมืองประจำเขตเบอร์ลินและบรันเดนบูร์ก (Brandenburg) ด้วย

 เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ในปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ เศรษฐกิจในเยอรมนีที่เริ่มดีขึ้นหลัง ค.ศ. ๑๙๒๔ ก็พลอยเสื่อมทรุดลงอีกครั้งอย่างรวดเร็ว จนเปิดโอกาสให้พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* มีบทบาททางการเมืองมากขึ้น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคหาเสียงว่าพรรคนาซีคือพรรคเดียวที่สามารถนำเยอรมนีคืนสู่ความยิ่งใหญ่ และต่อสู้ป้องกันไม่ให้พรรคคอมมิวนิสต์เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบสหภาพโซเวียตพรรคนาซีประสบความสำเร็จจนฮิตเลอร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ส่งผลให้สาธารณรัฐไวมาร์สิ้นสุดลง ฮิตเลอร์ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยให้เป็นระบอบเผด็จการมาตรการสำคัญประการหนึ่งคือ การกวาดล้างพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากพรรคนาซี สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนไม่น้อยจึงถูกสังหาร จับกุม หรือส่งตัวเข้าค่ายกักกัน (Concentration Camp)* สมาชิกที่เหลือรอดจึงจัดตั้งขบวนการใต้ดินขึ้นเพื่อต่อสู้กับอำนาจของพรรคนาซี อุลบริชท์ร่วมทำงานกับขบวนการใต้ดินของพรรคจนหน่วยตำรวจลับเกสตาโป (Gestapo)* เริ่มสืบเบาะแสได้และออกหมายจับ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓–๑๙๓๗ เขาหนีภัยไปอยู่ที่กรุงปารีสและกรุงปรากตามลำดับ เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War)* ขึ้นในกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ อุลบริชท์เป็นผู้แทนของโคมินเทิร์น (Comintern)* หรือสากลที่ ๓ (Third International)* ไปสังเกตการณ์ในสเปนเนื่องจากสหภาพโซเวียตสนับสนุนฝ่ายสาธารณรัฐในขณะที่เยอรมนีและอิตาลีภายใต้การนำของเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* สนับสนุนฝ่ายชาตินิยมที่มีนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* เป็นผู้นำ

 หลังสงครามกลางเมืองยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๓๘อุลบริชท์ไปพำนักที่กรุงมอสโก เมื่อเยอรมนีและสหภาพโซเวียตลงนามในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ โดยทั้ง ๒ ประเทศจะไม่รุกรานและก่อสงครามกันเป็นเวลา ๑๐ ปี อุลบริชท์สนับสนุนการลงนามในกติกาสัญญาฉบับนี้และเชื่อว่าเยอรมนีจะไม่กล้าบุกสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เมื่อเยอรมนีล้มเหลวในการจะพิชิตอังกฤษในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* ค.ศ. ๑๙๔๑ เยอรมนีหันไปบุกสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันตามแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* โคมินเทิร์นจึงให้อุลบริชท์จัดรายการวิทยุภาษาเยอรมันขึ้นในกรุงมอสโกเพื่อโน้มน้าวให้ทหารเยอรมันที่รบในสหภาพโซเวียตมาเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ อุลบริชท์ยังแปลเอกสารโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาษารัสเซียเป็นเยอรมัน และทำหน้าที่สอบสวนนายทหารชาวเยอรมันที่ถูกจับกุม ต่อมา กองทัพที่ ๖ ของเยอรมนีบุกโจมตีเมืองสตาลินกราด (Stalingrad) ซึ่งนำไปสู่ยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad ๒๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๒–๒ กุมภาพันธ์ค.ศ. ๑๙๔๓)* เมื่อเยอรมนีเริ่มเพลี่ยงพล้ำและถูกกองทัพโซเวียตล้อม อุลบริชท์เดินทางไปยังสตาลินกราดเพื่อโน้มน้าวใจให้ทหารเยอรมันยอมแพ้และเข้าร่วมกับฝ่ายโซเวียต หลังกองทัพที่ ๖ ยอมแพ้ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๓ และเริ่มเป็นฝ่ายถอยแทนที่จะบุกอุลบริชท์และสหายร่วมอุดมการณ์จำนวนหนึ่งได้รวบรวมชาวเยอรมันที่หนีเผด็จการนาซีมายังสหภาพโซเวียตพร้อมกับเชลยศึกชาวเยอรมันที่หันมาสนับสนุนคอมมิวนิสต์ จัดตั้งคณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยเยอรมนี (National Committee for a Free Germany) เพื่อต่อต้านรัฐบาลนาซี

 หนึ่งเดือนก่อนสงครามโลกในยุโรปจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ อุลบริชท์รวบรวมคณะกรรมการบริหารพรรคส่วนหนึ่งจัดตั้งเป็นกลุ่มอุลบริชท์ (Ulbricht Group) ขึ้นเพื่อเดินทางกลับเยอรมนีและเตรียมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นใหม่ตามแนวทางของสหภาพโซเวียต ดังนั้น เมื่อเยอรมนีและกรุงเบอร์ลินถูกแบ่งออกเป็น ๔ เขตภายใต้การยึดครองของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต อุลบริชท์ได้ตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีขึ้นอีกครั้งในเขตยึดครองของสหภาพโซเวียตในเยอรมนีตะวันออก พรรคสังคมประชาธิปไตยในเยอรมนีตะวันออกและพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็ถูกบีบให้เข้ามารวมกับพรรคคอมมิวนิสต์ จนท้ายที่สุดรวมกันเป็นพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๔๖อุลบริชท์ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐแซกโซนี-อันฮัลท์ (Saxony-Anhalt) และเป็นกรรมการด้านกฎหมายและเศรษฐกิจระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๖–๑๙๕๑ อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกาในช่วงหลังสงครามได้นำไปสู่การเกิดสงครามเย็น (Cold War)* และการปิดกั้นเบอร์ลิน (Berlin Blockade)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ วิกฤตการณ์การปิดกั้นเบอร์ลินมีส่วนทำให้สหภาพโซเวียตและมหาอำนาจตะวันตกต้องแยกเขตยึดครองเยอรมนีออกจากกันสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษรวมเขตของตนเป็นเขตเดียวและจัดตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany) ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ สหภาพโซเวียตก็สถาปนาเขตของตนขึ้นเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนีเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ โดยมีวิลเฮล์ม พีค (Wilhelm Pieck)* เป็นประธานาธิบดี ออทโทโกรทโวล (Otto Grotewohl) เป็นนายกรัฐมนตรีและอุลบริชท์เป็นรองนายกรัฐมนตรี ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ อุลบริชท์ก็ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค

 ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ อุลบริชท์ดำเนินนโยบายสร้างรัฐสังคมนิยมโดยยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี ตามแนวทางของของสหภาพโซเวียตเป็นหลัก ซึ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก ชาวนารายใหญ่และเจ้าของธุรกิจขนาดกลางถูกยึดทรัพย์ และอุตสาหกรรมราวร้อยละ ๘๐ ถูกยึดเป็นของรัฐ ในการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลยังต้องเพิ่มชั่วโมงทำงานและเก็บภาษีสูงขึ้น ในขณะที่สินค้าอุปโภคขาดแคลน มีคุณภาพต่ำและราคาสูง รัฐบาลคอมมิวนิสต์ยังควบคุมสังคมอย่างเข้มงวดด้วยการสั่งให้หน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐหรือสตาซี (State Security–Stasi) จับกุมกวาดล้างคนที่ต่อต้านนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ตามเมื่อนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตที่สืบทอดอำนาจต่อจากสตาลินดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ด้วยการผ่อนคลายความเข้มงวดทางสังคมและให้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างอิสระมากขึ้น อุลบริชท์จึงดำเนินนโยบายปฏิรูปที่เรียกว่า “แนวทางใหม่” (New Course) ด้วยการลดภาษีและราคาสินค้า ทั้งให้บุคคลที่ถูกยึดทรัพย์ยื่นคำร้องขอทรัพย์สินของตนคืนได้ แต่นโยบาย “แนวทางใหม่”ประสบความสำเร็จไม่มากนักเพราะรัฐบาลพยายามบีบบังคับประชาชนให้ทำงานหนักเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้สูงขึ้นและนำไปสู่การชุมนุมประท้วงในหลายเมืองทั่วเยอรมนีตะวันออกจนลุกลามไปถึงกรุงเบอร์ลิน เมื่อสถานการณ์เริ่มบานปลาย สหภาพโซเวียตซึ่งเกรงว่าการจลาจลจะขยายตัวไปยังประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ จึงส่งกองกำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๓ ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว ๕๐ คน และถูกจับกุมอีกเป็นจำนวนมาก การประท้วงครั้งนี้ทำให้อุลบริชท์ต้องยกเลิกการจัดงานครบรอบวันเกิด ๖๐ ปีของเขาในวันที่ ๓๐ มิถุนายน เนื่องจากเกรงจะถูกครหาถึงความฟุ่มเฟือยรวมทั้งให้ยกเลิกการขายแสตมป์ที่ระลึกซึ่งเป็นรูปของเขาด้วย

 เมื่อประธานาธิบดีพีคถึงแก่อสัญกรรมในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๖๐ อุลบริชท์ได้รับเลือกเป็นประธานแห่งสภาป้องกันชาติและประธานสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐซึ่งตั้งขึ้นมาแทนตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจึงครองอำนาจสูงสุดทั้งในพรรคและในประเทศ หลังขึ้นดำรงตำแหน่ง ปัญหาสำคัญที่อุลบริชท์เร่งแก้ไขคือการแก้ปัญหาการหลบหนีของชาวเยอรมันตะวันออกไปยังเยอรมนีตะวันตก เขายังสนับสนุนแนวความคิดของครุชชอฟที่เรียกร้องให้มหาอำนาจตะวันตกถอนทหารออกจากกรุงเบอร์ลินและยกสถานะกรุงเบอร์ลินเป็นนครเสรี แต่ประเทศตะวันตกปฏิเสธ อุลบริชท์จึงเห็นว่าควรมีการสร้างกำแพงกั้นระหว่างเบอร์ลินตะวันออกกับตะวันตกเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งนำไปสู่การสร้างกำแพงเบอร์ลินที่มีความยาวราว ๑๖๐ กิโลเมตร เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ ขณะเดียวกันอุลบริชท์ส่งทหารราว ๔๐,๐๐๐ นาย ออกไปประจำการทั่วเยอรมนีตะวันออกเพื่อป้องกันการประท้วง

 อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อุลบริชท์จึงประกาศใช้ “ระบบเศรษฐกิจใหม่” (New Economic System) ใน ค.ศ. ๑๙๖๓ ด้วยการให้อิสระกับเจ้าของธุรกิจขนาดกลางมากขึ้น และนำผลงานค้นคว้าทางวิชาการมาปรับใช้กับการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและธุรกิจตลอดจนเชิญนักวิชาการที่รอบรู้มาให้คำปรึกษามากขึ้น แต่ระบบเศรษฐกิจใหม่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนักและมีส่วนทำให้อุลบริชท์เสียความนิยมภายในพรรค ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เมื่ออะเล็กซานเดอร์ ดูบเชก (Alexander Dubček)* ผู้นำเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* ดำเนินการปฏิรูปประเทศทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่รู้จักกันว่า ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก (Prague Spring)*อุลบริชท์ได้สนับสนุนเลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตให้ส่งกองกำลังร่วมขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization)* เข้าปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยในกรุงปรากเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ เขายังวิพากษ์โจมตีเชโกสโลวะเกียในการทำลายความมั่นคงของระบอบสังคมนิยมด้วยการสร้างสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้โลกตะวันตกโจมตีลัทธิคอมมิวนิสต์ได้

 ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ เมื่อวิลลี บรันดท์ (Willy Brandt)* นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีตะวันตกดำเนินนโยบายต่างประเทศใหม่ที่รู้จักกันว่า นโยบายมุ่งตะวันออก (Ostpolitik)* ด้วยการปรับความสัมพันธ์กับประเทศในยุโรปตะวันออก อุลบริชท์ซึ่งต้องการสร้างคะแนนนิยมจึงต้องการเปิดการเจรจากับบรันดท์เพื่อแก้ไข “ปัญหาเยอรมนี” (German Question) โดยยอมรับสถานภาพการดำรงอยู่ของเยอรมนีตะวันตก แนวคิดของเขาดังกล่าวถูกต่อต้านไม่น้อยและทำให้เขาเสียความนิยมภายในพรรคมากขึ้นในการประชุมใหญ่ของคณะกรรมาธิการกลางของพรรคระหว่างวันที่ ๙–๑๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ ที่ประชุมจึงนำประเด็นปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและการบริหารงานที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของสหภาพโซเวียตมาอภิปรายซึ่งเป็นการโจมตีอุลบริชท์โดยตรง ในวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๗๑ สมาชิก ๑๓ คนของพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนีเขียนจดหมายลับถึงเบรจเนฟที่มีเนื้อหาว่า อุลบริชท์ขาดความสามารถที่จะบริหารประเทศได้อีกต่อไป เบรจเนฟจึงกดดันให้อุลบริชท์ลาออกเมื่อเขาเดินทางไปกรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม เพื่อร่วมการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต

 ต่อมา เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๑ อุลบริชท์ใช้ข้ออ้างเรื่องสุขภาพที่ย่ำแย่ประกาศลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดยกเว้นตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งในขณะนั้นเป็นตำแหน่งที่ไร้อำนาจในการปกครอง อย่างไรก็ตาม มีการตั้งตำแหน่ง “ประธานพรรค” ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาด้วย หลังการลาออก อุลบริชท์ปลีกตัวจากการเมืองและใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ จนถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหลอดเลือดในสมองตีบที่บ้านพักรับรองของรัฐบาลที่ทะเลสาบเดิลล์นเซ (Döllnsee) ทางตอนเหนือของประเทศเมื่อ วันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๓ รวมอายุ ๘๐ ปี.



คำตั้ง
Ulbricht, Walter
คำเทียบ
นายวัลเทอร์ อุลบริชท์
คำสำคัญ
- กติกาสัญญานาซี-โซเวียต
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน
- การปิดกั้นเบอร์ลิน
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- กำแพงเบอร์ลิน
- เกสตาโป
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- ค่ายกักกัน
- โคมินเทิร์น
- ดูบเชก, อะเล็กซานเดอร์
- นโยบายมุ่งตะวันออก
- นาซี
- บรันดท์, วิลลี
- เบรจเนฟ, เลโอนิด
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- ปัญหาเยอรมนี
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคเอกภาพสังคมนิยมแห่งเยอรมนี
- พีค, วิลเฮล์ม
- ฟรังโก, ฟรันซิสโก
- ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์, อาร์ชดุ๊ก
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- มหาอำนาจกลาง
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ยุทธการที่สตาลินกราด
- ระบบเศรษฐกิจใหม่
- ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก
- ลักเซมบูร์ก, โรซา
- ลีบเนชท์, คาร์ล
- วิกฤตการณ์การปิดกั้นเบอร์ลิน
- สงครามกลางเมืองสเปน
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาลิน, โจเซฟ
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาไรค์ชตาก
- สหภาพโซเวียต
- สัญญานาซี-โซเวียต
- สากลที่ ๓
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- ออสเตรีย-ฮังการี
- อุลบริชท์, วัลเทอร์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1893–1973
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๖–๒๕๑๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-